การให้น้ำสำหรับพืชสวนประดับ
น้ำนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการดำรงชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ บนพื้นผิวโลกส่วนที่เป็นน้ำประมาณร้อยละ 97.3 เป็นน้ำเค็มส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 2.7 เป็นน้ำจืด ซึ่งได้แก่น้ำที่อยู่สภาพที่เป็นน้ำแข็งตามขั้วโลก น้ำที่อยู่ใต้ดิน และน้ำตามห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆ (บุญลือ เอี่ยวพานิช หน้า 2) สำหรับมนุษย์ น้ำนอกจากจะใช้ในการอุปโภคและบริโภคเป็นหลักแล้ว น้ำยังเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมที่สำคัญต่างๆ เช่น อารยธรรมของอาณาจักรเมโสโปรเตเมียที่อยู่ระหว่างบริเวณลุ่มน้ำไทกรีสและยูเฟรติส อารยธรรมจีนบริเณลุ่มน้ำเหลืองและลุ่มน้ำแยงซีเกียง เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากมนุษย์เริ่มทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพบริเวณริมแม่น้ำต่างๆ เมื่อเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับสังคมอื่นจนเกิดเป็นชุมชนจนมีความเจริญรุ่งเรือทำให้เกิดเป็นเมืองต่างๆ ขึ้น สำหรับบทบาทของน้ำในพืชพรรณแล้วน้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะทางด้านผลิตทางการเกษตรดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
ความสำคัญของน้ำกับพืช
สำหรับพืชไม่ว่าจะเป็นพืชชนิดใด น้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเนื้อเยื่อพืชโดยน้ำจะอยู่ในส่วนที่กำลังเจริญเติบโตประมาณร้อยละ 85 -95 และส่วนที่มีการพักตัวประมาณร้อยละ 5-10 ในการดำเนินการผลิตทางด้านพืชสวน น้ำจึงถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการผลิตทางด้านพืชสวนหากขาดน้ำการผลิตทางด้านพืชสวนจะไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้เลย ทั้งเนื่องจากน้ำมีบทบาทต่อพืชในด้านต่าง ๆดังต่อไปนี้
1. รักษาโครงสร้างต่างๆ ของพืช เนื่องจากส่วนของพืชที่มีเนื้อไม้จะมีการสะสมมีสารที่เรียกว่า “ลิกนิน (lignin)” ที่ทำหน้าพยุงโครงสร้าง สำหรับบริเวณที่อื่นที่ไม่มีเนื้อไม้ก็จะมีลิกนินเช่นกันแต่จะมีในปริมาณที่น้อยมากทำให้ต้องอาศัยความเต่งของเซลล์ (turgidity) ที่เกิดจากการดูดซับน้ำไว้ในเซลล์ช่วยพยุงโครงสร้างต่างๆ ไว้ นอกจากนั้นแล้วน้ำที่อยู่ในส่วนของโพรโตพลาสซึมที่อยู่ภายในเซลล์ก็ยังจะช่วยรักษาสภาพของสารประกอบและอวัยวะต่างๆที่อยู่ในเซลล์ให้อยู่ในสภาพปรกติ หากไม่มีน้ำในองค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้สมบัติทางด้านเคมีและฟิสิกส์เปลี่ยนไป ผลที่ตามมาคือ กิจกรรมต่างๆ ภายในเซลล์ไม่สามารถดำเนินไปได้ตามปรกติ
2. เป็นตัวกลางในการเปลี่ยนแปลงของทางด้านเคมีและฟิสิกส์ คุณสมบัติของน้ำที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เป็นโมเลกุลที่มีลักษณะที่เป็นขั้วทำให้น้ำสามารถอยู่รวมกับอินทรีย์สารต่างๆ เช่น น้ำตาล แป้งได้และสามารถละลายสารประกอบที่มีขั้วอื่น ๆ น้ำจึงเป็นตัวกลางที่เหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงหรือทำปฏิกริยาต่างๆ เช่นการแพร่ของอิออนธาตุอาหาร การลำเลียงสารไปยังส่วนต่างๆ ของพืช เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วน้ำยังเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสังเคราะห์แสง โดยเป็นตัวให้ไฮโดรเจนไออนในปฏิกริยาต่างๆ
3. ช่วยลดอุณหภูมิของใบในช่วงเวลากลางวัน เนื่องจากในช่วงกลางวันพืชได้รับแสงโดยตรงจากดวงอาทิตย์ทำให้อุณหภูมิภายในใบสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่งผลต่อปฏิกริยาเคมีภายในใบพืช หากไม่มีการลดอุณหภูมิภายในลงก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อปฏิกริยาเคมีดังกล่าว และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชในที่สุด ซึ่งพืชจะใช้กลไกลของการคายน้ำช่วยลดอุณหภูมิโดยการทำให้น้ำระเหยกลายเป็นไอน้ำที่บริเวณปากใบ โดยใช้พลังงานความร้อนประมาณ 540 แคลอลรี่ต่อการทำให้น้ำ 1 กรัมระเหยเป็นไอน้ำออกไปทางปากใบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น