ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ข้อพิจารณาในการให้น้ำกับพืช

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นว่าน้ำมีบทบาทต่อพืชพรรณอย่างไร น้ำที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ส่วนใหญ่พืชพรรณจะได้น้ำจากทางดินเป็นหลัก ดินจึงเปรียบเหมือนกับถังเก็บน้ำไว้สำหรับพืช ดังนั้นลักษณะทางโครงสร้างของดินอันได้แก่ เนื้อดิน ขนาดของอนุภาคดิน ช่องว่างภายในดินจึงมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการอุ้มน้ำของพืช เมื่อฝนตกลงหรือรดน้ำให้พืชพรรณน้ำจะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดดินและจะถูกยึดติดกับเม็ดดินด้วยแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลน้ำกับเม็ดดินจนดินทั้งหมดอิ่มตัวไปด้วยน้ำ น้ำส่วนที่เหลือไม่สามารถจะซึมลงดินได้จะถูกชะล้างออกไป (run off) โดยแรงยึดเหนี่ยวดังกล่าวจะสัมพันธ์กับความชื้นที่ในดิน คือหากดินแห้งจะมีแรงดึงดูดมาก พืชจะต้องใช้แรงดึงมากเพื่อที่จะนำความชื้นจากดินไปใช้ ในทางกลับกันหากดินชื้นพืชก็จะใช้แรงดึงน้อยในการนำความชื้นขึ้นไปใช้ น้ำที่อยู่ภายในดินจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิดตามระดับของน้ำที่ถูกยึดไว้ โดยเริ่มจากชั้นนอกสุดไปยังชั้นในสุดดังนี้คือ

1. น้ำอิสระ(gravitational water) เป็นน้ำที่ขังอยู่ชั้นนอกสุดของเม็ดดิน หากแรงยึดเหนี่ยวระหว่างน้ำกับน้ำ และน้ำกับดินน้อยกว่าแรงดึงดูดของโลก น้ำในส่วนนี้จะถูกไปยังชั้นด้านล่างของดินด้วยแรงดึงดูดของโลก น้ำในส่วนนี้อยู่ในช่องว่างขนาดใหญ่ของดิน หากอยู่ในดินเป็นระยะเวลานานจะทำให้พืชขาดอากาศและจะเป็นอันตรายต่อพืช โดยจุดที่ระดับความชื้นที่มีน้ำอิสระอยู่เกือบเต็มช่องว่างนี้จะเรียกว่า “จุดความชื้นอิ่มตัว (water saturated)

2. น้ำซับ (capillary water) หลังจากที่หยุดการให้น้ำต่อพืชแล้ว และน้ำอิสระได้ระบายสู่ส่วนล่างซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 24 -48 ชั่วโมง น้ำในดินที่เหลือจะถูกยึดด้วยดินให้อยู่ในช่องว่างขนาดเล็กของดินด้วยแรงที่มากพอที่จะต้านแรงดึงดูดของโลกแต่ในช่องว่างขนาดใหญ่ของดินจะมีแต่อากาศ ซึ่งความชื้นในดินที่ระดับนี้จะเรียกว่า “จุดความชื้นระดับสนาม (field capacity)” หรือจุดความชื้นชลประทาน ที่จุดนี้ถือว่าเป็นระดับสูงสุดของความชื้นในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืช (aviable water) เนื่องจากพืชสามารถนำน้ำส่วนนี้ไปใช้ได้ โดยทั่วไปน้ำส่วนนี้จะถูกดึงด้วยแรงระหว่าง 1/3 – 1/10 ของบรรยากาศ เมื่อความชื้นในดินลดลงจนถึงระดับที่ความชื้นไม่เพี่ยงพอสำหรับการคายน้ำพืชจะเริ่มเหี่ยวเฉาอย่างถาวร ความชื้นจุดนี้เรียกว่า “จุดเหี่ยวถาวร (permantent wilting point)

3. น้ำเยื่อ (hygroscopic water) เป็นน้ำที่อยู่ติดกับอนุภาคดินมากที่สุด โดยน้ำส่วนนี้จะถูกยึดด้วยแรงประมาณ 31 เท่าของบรรยากาศ เป็นน้ำส่วนที่เหลือจากน้ำซับที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย เมื่อระดับความชื้นในดินอยู่ที่ระดับนี้ พืชอาจจะตายเพราะอาการขาดน้ำได้

จากประเภทของน้ำในดินดังกล่าวจะเห็นได้ว่าน้ำที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมากที่สุดคือน้ำซับ ซึ่งเป็นความชื้นที่อยู่ระหว่างจุดความชื้นสนามและจุดเหี่ยวถาวร ดังแสดงในภาพที่ 2.32 ดังนั้นในการให้น้ำแก่พืชจะต้องให้น้ำเมื่อระดับความชื้นในดินลดลงก่อนถึงระดับของจุดเหี่ยวถาวร โดยทั่วไปจะยอมให้ความชื้นในดินลดลงร้อยละ 40 -60 ของความชื้นที่เป็นประโยชน์ต่อพืชซึ่งความชื้นที่จุดนั้นจะเรียกว่า “ความชื้นที่จุดวิกฤต” สามารถตรวจสอบได้ 3 วิธี ได้แก่ การวัดความชื้นโดยการชั่งน้ำหนัก การวัดความชื้นโดยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ และการวัดความชื้นด้วยวีธีสัมผัส วิธีการที่สะดวกที่สุดสำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่คือ การวัดความชื้นด้วยวีธีสัมผัส โดยใช้เครื่องมือขุดหรือเจาะดินที่ระดับความลึกของเขตรากพืชในพื้นที่ต้องการแล้วนำมาตรวจดูด้วยการสัมผัสด้วยมือ วิธีการนี้แม้ไม่ใชวิธีการที่ถูกต้องเท่าไรนักแต่ถ้าหากผู้ปฏิบัติมีความชำนาญก็พอจะบอกได้ว่าดินนั้นแห้งพอที่จะให้น้ำได้หรือยัง




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น