โดยทั่วไประบบให้น้ำกับพืชจะมีการดูดน้ำจากแหล่งน้ำ และน้ำที่ถูกดูดก็จะถูกปล่อยออกไปในแปลงปลูก สำหรับงานภูมิทัศน์ระบบน้ำที่จะใช้นอกจากต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำที่เหมาะสมสำหรับพืชแล้ว ยังต้องคำนึงถึงในด้านของความสวยงามอีกด้วย โดยอาจจะต้องซ่อนหรือใช้วัสดุที่มีสีกลมกลืนกับสภาพโดยรอบดังนั้นหากแบ่งส่วนที่เป็นองค์ประกอบของระบบน้ำจะแบ่งออกเป็น 2 หลัก ๆ คือ ส่วนดูดน้ำ (suction part) และ ส่วนจ่ายน้ำ (emission part) โดยแต่ละส่วนมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ส่วนดูดน้ำ
ส่วนนี้เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการดูดน้ำขึ้นมาจากแหล่งน้ำก่อนที่จะปล่อยออกมาทางส่วนปล่อยน้ำและจ่ายไปยังแปลงปลูกพืชพรรณต่อไป โดยส่วนที่ดูดน้ำประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1.1 วาล์วหัวกระโหลก (foot valve) คือวาวล์ตัวล่างสุดที่จะใช้ดูดน้ำ และกรองเศษวัสดุต่างๆ ในขั้นต้น ในการดูดน้ำจากที่ๆต่ำกว่าปั้มจะต้องมีน้ำอยู่ภายในระบบหรือท่อ หากไม่มีน้ำในระบบหรือท่อจะต้องเติมน้ำลงไป ปั๊มน้ำจึงจะทำงานได้ โดยวาวล์ตัวนี้ทำหน้าที่กั้นน้ำในระบบไม่ให้ไหลย้อนกลับลงไปในแหล่งน้ำ ดังนั้นเมื่อเปิดปั้มน้ำในท่อและที่ตัวปั้มจะดึงเอาน้ำในบ่อขึ้นมาได้ วาล์วหัวกระโหลกนี้มีทั้งแบบบานพับและแบบสปริง แบบบานพับจะมีการสูญเสียแรงดันน้อยกว่าแบบสปริง โดยภาพของวาว์ลหัวกระโหลกแสดงแสดงในภาพ

1.2 มาตรวัดแรงดันน้ำ (pressure guage) หากไม่มีอุปกรณ์ชิ้นนี้ระบบก็สามารถทำงานได้ แต่อุปกรณ์ชิ้นนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ เป็นตัวบอกแรงดันของน้ำที่ผิดปรกติไปของปั๊มน้ำ หากแรงดันผิดปรกติสิ่งที่ตามมาคือ ความเสียหายที่จะเกิดกับปั๊มน้ำ ดังนั้นมาตรวัดแรงดันน้ำ จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการตรวจสอบแรงดัน และควรติดตั้งทั้งส่วนที่น้ำเข้าและน้ำออกเพื่อให้ทราบความแตกต่างของแรงดันที่เกิดขึ้นโดยภาพของมาตรวัดแรงดันน้ำแสดงในภาพ

1.3 ปั๊มน้ำ หรือเครื่องสูบน้ำ (water pump)ทำหน้าที่เพิ่มแรงดันของระบบให้สามารถส่งน้ำไปยังท่อต่างๆ ได้ ในการออกแบบระบบน้ำจะต้องมีการคำนวณและพิจารณเลือกปั๊มน้ำหรือเครื่องสูบน้ำอย่างเหมาะสมโดยการเลือกปั๊มน้ำจะมีความสัมพันธ์กับอัตราการไหลของน้ำ (flow rate; Q) และแรงดันที่ต้องการ (head; H) โดยปั๊มน้ำอาจเป็นได้ทั้งแบบไฟฟ้าและแบบเครื่องยนต์ ในกรณีที่เป็นปั๊มน้ำระบบไฟฟ้าอาจมีตู้ควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ (controller) ซึ่งสามารถสั่งการให้ควบคุมการปิดเปิดประตูน้ำได้ตามเวลาที่กำหนด


2. ส่วนจ่ายน้ำ
ส่วนนี้ทำหน้าที่จ่ายน้ำที่ได้จากการดูดผ่านปั๊มน้ำหรือเครื่องสูบน้ำออกไปยังท่อประธาน ท่อแขนงและท่อย่อย ก่อนที่จะออกไปยังหัวจ่ายน้ำชนิดต่างๆ โดยส่วนจ่ายน้ำประกอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
2.1 วาล์วกันกลับ (check valve) เป็นวาล์วที่ทำหน้าที่ป้องกันน้ำไหลย้อนกลับเข้ามาทางปั๊มน้ำโดยบังคับให้น้ำไหลไปในทิศทางเดียวเท่านั้น ที่ตัววาล์วจะไม่มีตัวก้านปิดเปิดแต่จะมีลูกศรบอกทิศทางของน้ำเท่านั้น วาล์วกันกลับมีอยู่ 2 แบบคือ แบบสปริงและแบบบานเหวี่ยง ดังนั้นเมื่อเปิดปั๊มน้ำให้ทำงานน้ำก็จะไหลออกทางหัวจ่ายน้ำได้เลยไม่ต้องรอให้น้ำต็มท่อ โดยภาพของวาล์วกันกลับแสดงในภาพ


2.2 ท่อ (pipe line) ในการให้น้ำทางพืชสวนท่อที่ใช้ในการวางระบบน้ำมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ท่อเหล็ก ท่ออลูมีเนียม ท่อซีเมนต์ใยหิน ท่อพีวีซี และท่อพีอี ซึ่งเงื่อนไขการใช้งานก็แตกตางกันออกไปตามชนิดของวัสดุ โดยท่อที่ใช้ในการดูดและส่งน้ำที่ติดกับปั๊มน้ำมักใช้ท่อเหล็กสำหรับระบบที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เนื่องจากต้องการความเข็งแรงและคงรูปของเหล็กนั่นเอง ส่วนท่อประธาน (main pipe) ที่ใช้จ่ายน้ำไปยังท่อแขนง (lateral pipe) สามารถใช้ท่อพีวีซีหรือท่อใยหินได้ แต่ท่อพีวีซีเป็นที่นิยมมากกว่าเนื่องจากมีราคาค่อนข้างถูกและซ่อมแซมได้ค่อนข้างง่าย สำหรับท่อแขนงและท่อย่อยสามารถใช้ได้ทั้งท่อพีวีซีและท่อพีอี แต่ท่อพีอีเป็นที่นิยมมากว่าเนื่องจากความสะดวกในการติดตั้งและความยืดหยุ่นในการใช้งาน อย่างไรก็ตามท่อพีอีมีราคาแพงกว่าท่อพีวีซีพอสมควร โดยท่อพีอีและท่อพีวีซีแสดงในภาพ


2.3 ประตูน้ำ (gate valve) ทำหน้าที่ปล่อยน้ำจากท่อต่างๆ ไปยังหัวจ่ายน้ำ ในกรณีที่เป็นการเปิดปิดประตูน้ำด้วยระบบอัตโนมัติเรามักจะเรียกประตูน้ำชนิดนี้ว่า “โซลินอยด์วาล์ว (solenoid valve)” ซึ่งจะสั่งการด้วยตู้ควบคุม หากเป็นระบบที่ควบคุมด้วยมือคนเวลาใช้งานควรเปิดหรือปิดให้สุด ไม่ควรเปิดครึ่งๆกลางๆ เพราะจะทำให้ตัวประตูน้ำเสียหายได้ ผลที่ตามมาจะปิดประตูน้ำได้ไม่สนิทและเกิดการรั่วซึมได้ต่อไป โดยภาพประตูน้ำแสดงในภาพ

ประตูน้ำ

ประตูน้ำอัตโนมัติ
2.4 วาล์วไล่ลม (air valve) ทำหน้าที่ระบายอากาศที่อยู่ในท่อออกไป เพื่อให้น้ำเข้ามาแทนที่ได้เต็มท่อทำให้น้ำไหลได้สะดวกและเต็มท่อ


2.5 ตัวกรอง (filter) ทำหน้าที่ดักสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่จะไหลเข้าระบบ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการอุดตัน หรือกีดขวางทางเดินของน้ำ ตำแหน่งของตัวกรองมักจะอยู่บริเวณต่อจากวาล์วกันกลับ โดยภาพของตัวกรองแสดงดังภาพ
.jpg)


2.6 หัวจ่ายน้ำ (emitter) สามารถแบ่งได้หลายแบบตามลักษณะของการให้น้ำ ได้ดังต่อไปนี้
2.6.1หัวน้ำหยด (dripper) เป็นหัวจ่ายน้ำที่ให้พืชทีละน้อย ๆ มีอัตราการจ่ายน้ำระหว่าง 2 -20 ลิตรต่อชั่วโมงต้องการแรงดันต่ำประมาณ 0.5-2 บาร์ โดยน้ำที่ออกมาจะหยดเป็นเม็ดแล้วซึมออกไปรอบๆ บริเวณ ในกลุ่มของหัวน้ำหยดยังแบ่งได้ออกเป็นอีก 2 ชนิดคือ
- ชนิดที่ติดตั้งบนท่อ (on line dripper) ชนิดนี้สามารถกำหนดระยะระหว่างหัวด้วยการเจาะท่อตามระยะที่กำหนด แล้วนำหัวไปเสียบบนท่อพลาสติดพีอีหรือท่อพีวีซี นอกจากนี้บางรุ่นยังสามารถปรับแรงดันน้ำได้
- ชนิดที่ติดตั้งภายในท่อ (in line dripper) เป็นท่อที่มีการติดั้งหัวน้ำหยดชนิดเรียบร้อยมาจากโรงงาน ดังนั้นหัวน้ำหยดชนิดนี้ไม่สามารถกำหนดระยะในการวางหัวน้ำหยดได้ จึงไม่ค่อยเหมาะสมกับงานภูมิทัศน์ แต่เหมาะสำหรับงานในแปลงปลูกพืชเป็นแถวเป็นแนวมากกว่า
2.6.2 หัวสปริงเกอร์ (sprinkle) หัวจ่ายชนิดนี้ต้องการแรงดันสูง มีอัตราการจ่ายน้ำตั้งแต่ 7 – 15 ลูกบาศ์กเมตรต่อชั่วโมง ต้องการแรงดันตั้งแต่ 1-10 บาร์ มีรัศมีการกระจายน้ำตั้งแต่ 1 – 50 เมตร โดยหัวสปริงเกอร์ยังแบ่งออกได้อีก 2 ชนิดดังนี้
- หัวสปริงเกอร์แบบนิ่ง (spray sprinkle) หัวสปริงเกอร์ชนิดนี้มีการจ่ายน้ำออกมาเป็นเม็ดเล็ก ๆ โดยที่ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดหมุน แต่จะอาศัยการออกแบบช่องน้ำภายในหัวสปริงเกอร์ทำให้เม็ดน้ำสามารถกระจายได้โดยรอบ น้ำที่ใช้ในระบบนี้ต้องสะอาดพอสมควร
- หัวสปริงเกอร์แบบหมุน (rotary sprinkle) หัวสปริงเกอร์ชนิดนี้มีกการจ่ายน้ำที่มีเม็ดขนาดใหญ่ ขณะที่จ่ายน้ำหัวสปริงเกอร์จะมีการหมุนในแนวราบไปด้วย หัวสปริงเกอร์ชนิดนี้ยังแบ่งได้อีก 2 แบบคือ แบบธรรมดาและแบบกระแทก โดยแบบธรรมดาจะใช้แรงดันน้ำไม่มากนักในขณะที่พ่นน้ำแรงดันน้ำจะผลักส่วนที่ติดตั้งหัวฉีดให้หมุนรอบตัวเอง ส่วนแบบกระแทกจะอาศัยแรงกระทำของน้ำไปทำให้กลไกลที่เป็นคานเหวี่ยงและสปริงทำงานทำให้หัวสปริงเกอร์หมุนไปได้
หัวสปริงเกอร์ทั้ง 2 แบบนอกจากจะติดตั้งไว้บนผิวดินแล้วยังมีชนิดที่ฝังลงไปในดิน และจะโผล่ขึ้นมาเมื่อรดน้ำเท่านั้น เรียกว่าหัวสปริงเกอร์แบบ “ป๊อบอัพ” (pop up) จึงเหมาะสำหรับงานทางด้าน ภูมิทัศน์ขนาดค่อนข้างใหญ่เป็นอย่างยิ่ง
2.6.3 หัวไมโครเจท (micro jet) เป็นหัวจ่ายสำหรับการให้น้ำแบบประหยัด หัวจ่ายน้ำชนิดนี้จะคล้ายกับหัวสปริงเกอร์แต่ย่อขนาดลงมา โดยหัวจ่ายน้ำชนิดนี้ต้องการแรงดันต่ำโดยน้ำจะพุ่งออกจากรูของหัวจ่ายไปกระทบปีกทำให้น้ำแตกกระจายออกไปเป็นฝอย โดยหัวไมโครเจทยังแบ่งได้อีก 2 ชนิดคือ แบบธรรมดา และแบบปรับอัตราการพ่นน้ำได้ เนื่องจากหัวไมโครเจทมีขนาดเล็ก แต่ลักษณะการให้น้ำคล้ายกับหัวสปริงเกอร์จึงเหมาะสำหรับงานขนาดที่ค่อนข้างเล็กหรือใช้ในพื้นที่ไม่ใหญ่มาก เช่นงานในระดับบ้านพักอาศัยทั่วไป เป็นต้น
โดยหัวจ่ายน้ำชนิดต่างๆ แสดงในภาพ

จากองค์ประกอบทั้งหมดของระบบน้ำทั้งส่วนที่ดูดและจ่ายน้ำสามารถแสดงให้เห็นภาพรวมของระบบทั้งหมดคร่าวๆ ดังภาพที่

สรุปได้ว่า น้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของพืชไม่ต่างกับคนหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยน้ำมีบทบาทต่อการเป็นตัวกลางในปฏิกริยาต่างๆ รักษาสภาพโครงสร้างและส่วนประกอบของเซลล์ ตลอดจนทำหน้าที่ในการลดอุณหภูมิภายในพืชพรรณไม่ให้สูงเกินไปด้วยวิธีการคายน้ำ สำหรับวิธีการให้น้ำในทางด้านพืชสวนแบ่งออกเป็น 5 วิธี ได้แก่ การให้น้ำทางผิวดิน การให้น้ำทางใต้ดิน การให้น้ำแบบฉีดฝอย การให้น้ำแบบน้ำหยด และการให้น้ำแบบประหยัด ซึ่งวิธีการให้น้ำแต่ละวิธีมีประสิทธิภาพ ความเหมาะสมและต้นทุนในการดำเนินงานที่แตกต่างกันออกไป สำหรับการตัดสินใจให้น้ำแก่พืชพรรณในทางทฤษฎีของพืชสวนประดับจะให้น้ำกับพืชเมื่อมีการนำน้ำที่เป็นประโยชน์ออกไปใช้ประมาณร้อยละ 40 -60 โดยจะต้องระมัดระวังไม่ให้ถึงจุดเหี่ยวถาวร เนื่องจากที่จุดนั้นพืชพรรณจะขาดน้ำจนไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ ในส่วนขององค์ประกอบของระบบน้ำแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ส่วนดูดน้ำ และส่วนปล่อยน้ำ โดยส่วนดูดน้ำประกอบด้วย วาล์วหัวกระโหลก มาตรวัดแรงดันน้ำ ปั๊มน้ำหรือเครื่องสูบน้ำ วาล์วไล่ลม และตัวกรอง ส่วนจ่ายน้ำประกอบด้วย วาล์วกันกลับ ท่อต่างๆ ประตูน้ำ หัวจ่ายน้ำ ในส่วนนี้อาจมีประตูน้ำที่เป็นระบบอัตโนมัติซึ่งถูกควบคุมจากตู้ควบคุมให้ทำการเปิดปิดตามเวลาที่ต้องได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น