ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การวางผังสถานเพาะชำ (nursery layout)

แนวคิดในการวางผังสถานเพาะชำ

จากองค์ประกอบของสถานเพาะชำดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น สามารถแบ่งองค์ประกอบต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่มตามลักษณะของงานทางกายภาพได้ดังต่อไปนี้ กลุ่มพื้นที่บริหาร ทำหน้าที่บริหารงานและสั่งการต่างๆ ภายในสถานเพาะชำ รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นพื้นฐานสำหรับประกอบการตัดสินใจ ตลอดจนทำหน้าที่ทางด้านการขาย ได้แก่ บริเวณสำนักงานและพื้นที่จำหน่ายพืชพรรณ กลุ่มพื้นที่ผลิต ทำหน้าที่ดำเนินการผลิตและดูแลพืชพรรณที่ได้มีการขยายพันธุ์เพื่อที่จะขายในระยะเวลาต่อไป ได้แก่ โรงเพาะชำ พื้นที่ทำงานในร่ม แปลงแม่พันธุ์ บริเวณกองปุ๋ยหมัก เตาเผาซากพืช และแหล่งน้ำ กลุ่มพื้นที่สนับสนุนการผลิต ทำหน้าที่สนับสนุนปัจจัยในการผลิตเพื่อให้การดำเนินการได้ เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืช สารเคมีป้องกันโรคและแมลง เป็นต้น พื้นที่ส่วนนี้ได้แก่ โรงเรือนเก็บวัสดุอุปการณ์ต่างๆ และที่พักของคนงาน สำหรับกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ องค์ประกอบที่เหลือทั้งหมด ทางสัญจร ที่จอดรถ รั้วและแนวไม้กันลม ซึ่งทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อกันระหว่างบริเวณต่างๆ

จากการจัดกลุ่มดังกล่าวหากพิจารณาตามความเหมาะสมในการเข้าถึงจะเห็นได้ว่าบริเวณบริหารมีความต้องการการเข้าถึงมากที่สุด รองลงมาคือบริเวณของพื้นที่สนับสนุนการผลิตและบริเวณพื้นที่ผลิตตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากต้องมีการติดต่อจากภายนอกค่อนข้างบ่อย ดังนั้นส่วนนี้ควรเป็นส่วนที่อยู่ด้านหน้าสุดของสถานเพาะชำมีที่จอดรถสำหรับผู้มาใช้บริการพอสมควร ขณะที่บริเวณพื้นที่สนับสนุนการผลิตจะเป็นพื้นที่มีการติดต่อจากภายนอกรองลงมาเช่น ผู้ขายสารเคมีหรือปุ๋ยนำสินค้ามาส่ง เป็นต้น พื้นที่ส่วนนี้จึงเหมาะสมที่จะอยู่มาทางค่อนข้างด้านหน้า หรือใกล้กับบริเวณพื้นที่บริหาร และต้องมีการเข้าถึงได้โดยรถบรรทุกทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เพื่อความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าและอาจต้องมีที่จอดรถชั่วคราวสำหรับขนถ่ายสินค้าในปริมาณที่มากในบางครั้ง สำหรับพื้นที่ผลิตซึ่งเป็นพื้นที่มีความเป็นส่วนตัวสูงที่สุด ควรอยู่ด้านในถัดไปจากสองส่วนดังกล่าว เพื่อลดการรบกวนการทำงานจากภายนอก ทางสัญจรอาจเป็นทางสัญจรขนาดเล็ก เพื่อให้ได้พื้นที่ผลิตมากที่สุด สำหรับแหล่งน้ำที่ใช้สำหรับการผลิตพืชพรรณควรอยู่บริเวณตรงกลางของพื้นที่ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนเรื่องท่อและขนาดของปั๊มที่จะต้องใช้ส่งน้ำไปยังส่วนต่างๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตามการวางแผนผังบริเวณตำแหน่งของบริเวณต่าง ๆ ที่กล่าวมาให้มีความสัมพันธ์กัน ถือเป็นสิ่งแรกที่จะต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้การปฏิบัติงานของบริเวณหน่วยงานต่าง ๆ ได้เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นแล้วควรจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่เกี่ยวข้องที่มีอิทธิพลต่อการวางผัง โดยแผนผังทั้งหมดจะต้องมีทั้งสิ่งที่ต้องการในปัจจุบัน และสิ่งที่ต้องการในอนาคต รวมถึงความคล่องตัวของการเคลื่อนย้ายวัสดุ ผลผลิต และส่วนต่าง ๆ เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อให้ระยะทางในเคลื่อนที่ของส่วนต่างๆ มีระยะสั้นและเกิดประโยชน์สูงสุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด

สรุปได้ว่าสถานเพาะชำกล้าไม้มีบทบาทที่สำคัญสำหรับงานภูมิทัศน์ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นสถานที่ผลิต พักฟื้น บำรุงรักษา และควบคุมคุณภาพของกล้าไม้ที่จะนำไปใช้ในงานภูมิทัศน์ โดยปัจจัยที่นำมาพิจารณาในการสร้างสถานเพาะชำ ได้แก่ปัจจัยทางด้านด้านสภาพแวดล้อม เช่น แหล่งน้ำ ความใกล้ไกลของตลาด เป็นต้น และปัจจัยที่ต้องจัดหา เช่น แรงงาน พลังงาน เป็นต้น สำหรับองค์ประกอบต่างๆ ที่ใช้ในการดำเนินการสถานเพาะชำประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ๆ ตามลักษณะของหน้าที่ดำเนินการได้แก่ ส่วนบริหารงาน ส่วนผลิต ส่วนสนับสนุนการผลิต และส่วนอื่นๆ อย่างไรก็ตามองค์ประกอบเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีครบหมด นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่สำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรลืมคือ การจัดวางผังที่ดี ทั้งนี้เนื่องจากการวางผังจะส่งผลต่อความสะดวกราบรื่นในการดำเนินงานต่างๆ ภายในสถานเพาะชำ ช่วยต้นทุนในการดำเนินการบางส่วน จนถึงแนวทางการขยายตัวในอนาคตของสถานเพาะชำในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น