ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

องค์ประกอบของสถานเพาะชำ( nursery element)

องค์ประกอบสถานเะพาะชำ

การสร้างสถานเพาะชำเพื่อใช้ในการภูมิทัศน์ควรจะมีองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำหรับงานทางด้านเอกสาร หรืองานทางด้านปฏิบัติการ เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานตลอดจนทำให้สามารถทำงานความสะดวกในดำเนินกิจการได้ตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ดังนั้นเมื่อได้สถานที่สำหรับสร้างสถานเพาะชำแล้ว องค์ประกอบของสถานเพาะชำที่จะต้องนำมาพิจารณาเพื่อใช้สำหรับการดำเนินกิจการ ได้แก่

1. กลุ่มพื้นที่บริหาร

1.1 ส่วนสำนักงาน เนื่องจากการบริหารสถานเพาะชำนั้นจะเกี่ยวข้องกับงานหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานทางด้านเอกสาร เช่น งานด้านบัญชี การเงิน การจัดซื้อและการขาย งานด้านบุคคล ถือได้ว่าเป็นสถานที่เก็บฐานข้อมูลที่สำคัญ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการผลิตพืชพรรณให้สอดคล้องกับเป็าหมายที่ได้กำหนดไว้ ส่วนของสำนักงานนี้อาจเป็นอาคารเดียวแยกออกมาหรือเป็นเพียงห้องที่อยู่ภายในอาคารก็ได้ ควรมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานและเก็บเอกสาร นอกจากนั้นแล้วควรมีการถ่ายเทอากาศที่ดีอีกด้วย

1.2 พื้นที่จำหน่ายพืชพรรณ พื้นที่ส่วนนี้อาจเป็นได้ทั้งพื้นที่ในร่มหรือพื้นที่กลางแจ้ง ทั้งนี้ขึ้นกับนิสัยของพืชพรรณที่เลี้ยงไว้ โดยพื้นที่ส่วนนี้ควรอยู่ใกล้ชิดกับส่วนของสำนักงานและลานจอดรถ เพื่อความสะดวกในการเลือกซื้อและขนส่งต้นไม้ อาจมีบริเวณสำหรับขนย้ายต้นไม้โดยเฉพาะแยกต่างหากออกไป เพื่อรอขนขึ้นรถบรรทุกที่มารับโดยเฉพาะ

2. กลุ่มพื้นที่ผลิต

2.1 โรงเรือนเพาะชำหรือโรงเรือนอนุบาลต้นอ่อน พื้นที่ส่วนนี้ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมของสถานเพาะชำ โดยพื้นที่ส่วนนี้รวมถึงส่วนที่เป็นกระบะสำหรับชำต้นกล้าจากการปักชำ ดังนั้นควรมีความต่อเนื่องกับพื้นที่ปฏิบัติงานในร่ม และมีความเชื่อมโยงกับส่วนอื่น ๆ หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นแปลงปลูกแม่พันธุ์ โรงเก็บวัสดุปลูกเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและจำเป็นจะต้องสร้างโรงเรือนแบบที่พรางแสง เพื่อเพิ่มปริมาณความชื้นในอากาศให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นอ่อนและลดอัตราการคายน้ำ ดังแสดงในภาพที่ 2.8 สำหรับขนาดของโรงเรือนควรจะมีพื้นที่เท่าใดขึ้นกับปริมาณต้นกล้าที่จะนำมาอนุบาลในโรงเรือน สำหรับความสูงของโรงเรือนนั้นอยู่ที่ประมาณ 2.25-2.5 เมตร เป็นระดับที่สูงพอจะทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หากสูงเกินไปจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างมากขึ้น ในทางกลับกันหากโรงเรือนมีระดับหลังคาหรือมีความสูงที่ต่ำเกินไป จะทำให้การทำงานภายในโรงเรือนไม่สะดวก อากาศถ่ายเทได้ยาก เกิดความอับชื้นและอุณหภูมิภายในสูงเกินไป นอกจากนี้ภายในโรงเรือนควรมีทางเดินเพื่อดูแลและขนย้ายต้นกล้าได้สะดวก ทิศทางของโรงเรือนควรหันตามแนวทิศเหนือไปทิศใต้ เพื่อให้ได้รับแสงแดดมากที่สุด
โดยโรงเรือนเพาะชำกล้าไม้แสดงดังภาพ


2.2 พื้นที่ปฏิบัติงานในร่ม เป็นพื้นที่สำหรับใช้ในการทำงานในร่มเช่น การกรอกวัสดุปลูกลงถุง การเตรียมท่อนพันธุ์สำหรับปักชำ เป็นต้น พื้นที่ส่วนนี้อาจใช้ร่วมกับบริเวณที่ผสมวัสดุปลูกได้ ไม่ควรอยู่ห่างจากโรงเรือนเพาะชำมากนัก ดังแสดงในภาพ


2.3 แปลงแม่พันธุ์ โดยทั่วไปพืชพรรณขนาดเล็กสำหรับงานภูมิทัศน์มักจะขยายพันธุ์โดยการปักชำหรือแยกกอเป็นหลัก ซึ่งสามารถทำการขยายพันธุ์ได้เองภายในสถานเพาะชำ ดังนั้นจึงควรมีแปลงแม่พันธุ์สำหรับใช้ในการขยายพันธุ์พืชที่ต้องมีการใช้ประกอบในงานภูมิทัศน์ค่อนข้างบ่อย สำหรับแปลงแม่พันธุ์นั้นจะต้องมีการดูแลเป็นอย่างดีไม่ให้เป็นแหล่งของโรคหรือแมลง ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้มีการระบาดของโรคหรือแมลงกระจายออกไปยังส่วนอื่นของสถานเพาะชำได้

2.4 เตาเผาซากพืช สำหรับเศษวัสดุที่เหลือจากการทำปุ๋ยหมักโดยเฉพาะส่วนของพืชที่มีการเข้าทำลายโดยโรคและแมลง จะต้องรีบเผาทำลายโดยทันทีเพื่อป้องกันการระบาดในสถานเพาะชำโดยส่วนนี้อาจอยู่ชิดบริเวณริมรั้วด้านใดด้านหนึ่ง ควรอยู่ห่างจากบริเวณอื่นพอสมควร และมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ ๆ เพื่อใช้สำหรับกรณีที่ต้องควบคุมเพลิงเวลาเผาซากพืช

2.5 แหล่งน้ำ เนื่องจากน้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเซลล์และโครงสร้างต่างๆ ของพืชพรรณ สถานเพาะชำกล้าไม้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีแหล่งน้ำภายในพื้นที่ โดยแหล่งน้ำควรอยู่ไม่ไกลจากโรงเรือนเพาะชำ แหล่งน้ำดังกล่าวอาจเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติหรือแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นก็ได้ บริเวณแหล่งน้ำควรมีจุดควบคุมการจ่ายน้ำซึ่งได้แก่เครื่องสูบน้ำ ระบบกรอง ระบบส่งน้ำ ซึ่งอาจเป็นระบบอัตโนมัติหรือควบคุมโดยมนุษย์ และจะต้องมีคุณภาพและปริมาณเพียงพอแก่การใช้งานตลอดทั้งปี

2.6 บริเวณกองปุ๋ยหมัก ในการดำเนินกิจกรรมของสถานเพาะชำแต่ละวันย่อมมีเศษวัสดุที่เหลือจากการดำเนินงาน โดยในส่วนของเศษวัสดุที่เป็นอินทรีย์วัตถุสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักได้ สำหรับชิ้นวัสดุที่มีขนาดใหญ่อาจต้องผ่านการย่อยด้วยเครื่องย่อยเศษวัสดุก่อน แล้วนำไปเทกองในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของสถานเพาะชำเป็นพื้นที่ทำปุ๋ยหมักโดยเฉพาะดังภาพที่ 2.10 สำหรับเศษอินทรีย์วัตถุที่ใช้ในการทำปุ๋ยหมักมีข้อควรระวังคือ ต้องไม่มีโรคหรือแมลงติดไปกับวัสดุดังกล่าว

3. กลุ่มพื้นที่สนับสนุนการผลิต

3.1 โรงเก็บวัสดุปลูก และพื้นที่ผสมวัสดุปลูก เนื่องจากงานในสถานเพาะชำจำเป็นต้องมีวัสดุปลูกสำหรับพืชพรรณหลายชนิดและมีการใช้ในปริมาณมาก จึงต้องมีพื้นที่สำหรับเก็บอย่างเป็นสัดส่วน และง่ายต่อการขนย้ายเพื่อนำมาใช้ผสมเป็นวัสดุปลูก อย่างไรก็ตามวัสดุปลูกบางชนิดอาจมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นตำแหน่งของโรงเก็บวัสดุปลูกควรห่างจากส่วนสำนักงานพอสมควร แต่ไม่ควรห่างจากพื้นที่ปฏิบัติงานภายนอกอาคารและโรงเรือนเพาะชำ เพื่อความสะดวกในการขนย้ายต้นกล้าเมื่อทำการขยายพันธุ์แล้ว นอกจากนั้นแล้วควรคำนึงถึงการเข้าถึงของยานพาหนะที่จะขนวัสดุปลูกเข้ามาอีกด้วย

3.2 โรงเก็บปุ๋ยเคมี ในการดูแลรักษาพืชพรรณเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดี ตรงตามขนาดที่ต้องการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการให้ปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยการเจริญเติบโตให้พืชได้อาหารอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นสถานเพาะชำจึงต้องมีการเก็บปุ๋ยเคมีเพื่อใช้งานจำนวนหนึ่ง โดยโรงเก็บปุ๋ยเคมีควรมีการระบายอากาศที่ดี และห่างจากส่วนของสำนักงานพอสมควร แต่สามารถใช้พื้นที่ร่วมกับห้องเก็บสารเคมีหรือห้องเก็บวัสดุอุปกรณ์ได้ มีการเข้าถึงได้ค่อนข้างสะดวก นอกจากนั้นแล้วต้องป้องกันน้ำฝนได้ดี ควรมีการนำยกพื้นเพื่อป้องกันความชื้นที่จะทำให้เกิดการจับตัวแข็งของปุ๋ยเคมีได้

3.3 ห้องเก็บสารเคมี การผลิตพืชพรรรณสำหรับงานภูมิทัศน์ให้ได้ปริมาณมากจำเป็นต้องมีการใช้สารเคมีหลายชนิดเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ปริมาณกล้าไม้ตามต้องการ สารเคมีเหล่านี้มีหลายชนิดมีทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย จำเป็นต้องมีการจำแนกเป็นหมวดหมู่เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ติดป้ายชื่ออย่างชัดเจน ห้องเก็บสารเคมีควรอยู่ในบริเวณที่ร่มไม่โดนแดดเพราะแดดอาจทำให้สารเคมีเสื่อมคุณภาพได้ และไม่ควรไกลจากพื้นที่ปฏิบัติงานมากนัก

3.4 ห้องหรือโรงเก็บวัสดุอุปกรณ์ ในการขยายพันธุ์พืชจำเป็นต้องใช้ภาชนะบรรรจุต้นกล้าเป็นจำนวนมาก จะต้องมีการสำรองไม่ให้ขาดตลอดเวลา นอกจากนั้นแล้วจะต้องมีพื้นที่สำหรับเก็บอุปกรณ์ใช้งานในทำงานต่างๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตามในส่วนนี้อาจพิจารณาใช้พื้นที่ร่วมกับส่วนของห้องเก็บสารเคมีได้ ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณของวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องจัดเก็บ ดังแสดงในภาพ

3.5 ที่พักคนงาน ในกรณีที่มีการจ้างแรงงานหลายคน ควรจัดให้มีพื้นที่สำหรับพักผ่อนโดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ตามสมควร เช่น ห้องน้ำ ส่วนสำหรับพักรับประทานอาหาร ห้องเก็บของส่วนตัวเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานเพาะชำ ในกรณีที่มีคนงานพักอาศัยอยู่ภายในสถานเพาะชำ จำเป็นต้องมีบ้านพักสำหรับคนงานเพื่อความสะดวกในการทำงาน พื้นที่ส่วนนี้อาจจะอยู่ด้านในเข้าไปของสถานเพาะชำ หรือไม่ห่างจากเรือนเพาะชำมากนัก

4. กลุ่มอื่นๆ

4.1 ลานจอดรถและเส้นทางติดต่อภายในสถานเพาะชำ อาจมีลานจอดรถแยกเป็นสองส่วนคือสำหรับลูกค้าที่มาติดต่อซื้อพรณไม้ และส่วนของพนักงานที่มาปฏิบัติงาน โดยส่วนแรกควรอยู่ใกล้กับส่วนของสำนักงานหรือพื้นที่จำหน่ายพืชพรรณส่วนที่สองควรอยู่ด้านใน และต้องไม่กีดขวางทางสัญจรภายในที่จะต้องไปบริเวณอื่นๆ

4.2 ทางเข้า ควรอยู่ติดกับด้านที่เป็นถนนใหญ่สามารถเข้าออกได้ 1 ถึง 2 ทางและต้องมีประตู ที่กว้างพอสำหรับรถบรรทุกผ่านไปได้ ตำแหน่งของประตูควรอยู่ในบริเวณที่เลี้ยวสู่ถนนใหญ่ได้ง่ายและปลอดภัย ไม่ควรอยู่บริเวณหัวโค้งหรือมุมอับ เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

4.3 แนวไม้กันลม ในกรณีที่พื้นที่ของสถานเพาะชำตั้งอยู่ในบริเวณที่มีลมรุนแรงควรปลูกต้นไม้เป็นแนวกันลมบริเวณริมของพื้นที่ทางด้านดังกล่าวจำนวนหนึ่งถึงสองแถวโดยปลูกสลับกัน เพื่อลดความรุนแรงของลมในแนวนั้น

4.4 รั้ว ใช้เป็นตัวกำหนดแนวเขตและป้องกันการบุกรุกของคนหรือสัตว์ จากภายนอก แนวรั้วควรอยู่ชั้นนอกสุด หรือต่อจากแนวกันลมก็ได้ โดยวัสดุที่ทำรั้วควรมีอายุการใช้งานได้ยาวนาน มีราคาไม่แพง เพื่อที่จะประหยัดการลงทุน ดังภาพ

จากองค์ประกอบที่ได้กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของสถานเพาะชำมีหลายอย่างที่ต้องพิจารณา อย่างไรก็ตามการสร้างสถานเพาะชำไม่จำเป็นที่จะต้องมีองค์ประกอบที่กล่าวมาครบทุกส่วนอาจมีการยุบรวมกันเพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดได้ เช่น พื้นที่สำหรับเก็บปุ๋ยเคมีอาจใช้รวมกับห้องเก็บสารเคมีและห้องเก็บวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น ทั้งนี้ควรพิจารณาจากความจำเป็นและงบประมาณเป็นสำคัญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น