“สถานเพาะชำ” หรือ nursery มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับงานภูมิทัศน์ ทั้งนี้เนื่องจากสถานเพาะชำเป็นพื้นที่สำหรับการผลิต การพักฟื้น การดูแลรักษา ตลอดจนการเตรียมพืชพรรณให้พร้อมทั้งทางด้าน คุณภาพ ความสม่ำเสมอและทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกเพื่อนำไปปลูกในแปลงปลูก หรือรอการจำหน่าย โดยพืชพรรณที่อยู่ในสถานเพาะชำนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นพืชพรรณที่มีขนาดเล็กเสมอไป อาจเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ขุดล้อมจากที่อื่นเพื่อนำมาพักฟื้นก่อนไปปลูกก็ได้ สถานเพาะชำมักมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเพียงแค่ตัวโรงเรือนเท่านั้นในความเป็นจริงสถานเพาะชำนั้นรวมถึงอาณาบริเวณโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นรั้วโดยรอบจนถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ที่จำเป็นอีก เช่น แปลงแม่พันธุ์ บริเวณสำหรับเก็บปุ๋ยเคมี พื้นที่เก็บวัสดุปลูกเป็นต้น โดยการสร้างสถานเพาะชำสำหรับพืชพรรณในงานภูมิทัศน์มีปัจจัยที่ควรคำนึงถึงในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งองค์ประกอบทางด้านโครงสร้างที่ต้องมีเพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
ปัจจัยที่ควรพิจารณาในการสร้างสถานเพาะชำ
ในการสร้างสถานเพาะชำเพื่อใช้สำหรับงานทางด้านภูมิทัศน์หรือด้านอื่น ๆ ควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งทางปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม (environmental factors) และปัจจัยที่ต้องจัดหามาเพื่อดำเนินการ (procurable factors) ซึ่งปัจจัยทั้งสองส่วนมีผลต่อการจัดสร้างสถานเพาะชำแตกต่างกันไป โดยปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมจะเกี่ยวข้องกับทางด้านลักษณะเฉพาะของพื้นที่จะสร้างสถานเพาะชำเป็นหลัก เช่น สภาพของดิน แหล่งน้ำ ทิศทางลม เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่ต้องจัดหาจะเกี่ยวข้องกับการจัดการของพื้นที่ เช่น แรงงาน แหล่งของพลังงานที่จะใช้ในสถานเพาะชำ เป็นต้น โดยแต่ละปัจจัยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม
1.1 ระยะห่างจากแหล่งปลูก สถานเพาะชำควรอยู่ใกล้แหล่งปลูกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เนื่องจากจะส่งผลต่อต้นทุนในด้านการประหยัดค่าขนส่ง ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อพืชพรรณ ทำให้พืชพรรณยังคงความแข็งแรงเมื่อถึงพื้นที่ปลูก ในบางกรณีที่มีความเร่งด่วนในการใช้พืชพรรณ หากมีสถานเพาะชำอยู่ใกล้แหล่งปลูกก็สามารถส่งพืชพรณได้ทันเวลาทำให้งานเสร็จในเวลาที่กำหนด
1.2 แหล่งน้ำ เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างมาก ดังนั้นสถานเพาะชำควรมีแหล่งน้ำที่สามารถนำมาประโยชน์ได้ง่าย พอเพียงต่อการดำเนินการตลอดทั้งปี ไม่มีสารมีพิษต่อการเจริญเติบโตของพืช
1.3 ความลาดชันของพื้นที่ สถานเพาะชำควรมีพื้นที่ราบและเรียบ เพื่อความสะดวกในการก่อสร้างโครงสร้าง ช่วยลดปัญหาหรือความเสี่ยงที่จะเกิดจากการชะล้างพังทะลายของดิน ทำให้การทำงานขนย้ายวัสดุเป็นไปได้อย่างสะดวก รวมถึงง่ายต่อการจัดระบบให้น้ำ หากจำเป็นต้องสร้างสถานเพาะชำในพื้นที่ลาดชันจะต้องทำการปรับระดับพื้นที่ให้เหมาะสมกับความลาดชัน และลักษณะของดินในพื้นที่นั้น
1.4 ลักษณะของดิน หากจำเป็นต้องปลูกต้นแม่ลงในดินบริเวณสถานเพาะชำ เพื่อใช้ขยายพันธุ์ ดินในสถานเพาะชำควรจะต้องเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ทั้งทางเคมีและกายภาพ มีการระบายน้ำดี ไม่มีสารพิษปะปน
1.5 การระบายน้ำ ที่ตั้งของสถานเพาะชำควรมีการระบายน้ำดี ไม่ควรมีน้ำมีท่วมขังเมื่อฝนตก และไม่มีลักษณะที่เป็นแอ่งน้ำขังเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เนื่องจากทำให้ไม่สะดวกต่อการปฏิบัติงาน และมีแนวโน้มทำให้เกิดโรคพืชได้ง่าย นอกจากนั้นแล้วการมีน้ำขังในพื้นที่จะส่งผลต่อการแพร่กระจายของโรคพืชเป็นไปอย่างรวดเร็วอีกด้วย
1.6 ทิศทาง หากพื้นที่ตั้งสถานเพาะชำอยู่ในบริเวณที่มีลมแรงควรจะมีการปลูกไม้กันลมโดยรอบสถานเพาะชำเพื่อป้องกันความเสียหายหรือลดความรุนของลม โดยไม้กันลมควรเป็นไม้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อื่นได้ เช่น ใช้กิ่งก้านทำโรงเรือน เป็นต้น
2. ปัจจัยที่ต้องจัดหามาเพื่อดำเนินการ
ในการดำเนินกิจมีรรมของสถานเพาะชำมีความจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ จากภายนอกเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ หากปัจจัยที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้สามารถจัดหาได้ง่าย หรือไม่ไกลจากสถานเพาะชำมากนัก ก็จะทำให้เป็นข้อได้เปรียบในการดำเนินงาน โดยปัจจัยเหล่านี้ได้แก่
2.1 แรงงาน เนื่องจากสถานเพาะชำกิจการที่ต้องใช้แรงงานมากในการดำเนินงาน ดังนั้นจึงควรมีแหล่งแรงงานอยู่ใกล้เคียงอย่างเพียงพอ ค่าจ้างโดยเฉลี่ยจะต้องไม่สูงเกินไป แรงงานควรมีทักษะพื้นฐานความรู้ และลักษณะนิสัยที่เหมาะกับงานสถานเพาะชำ ในระยะยาวควรมีการให้ความรู้ ฝึกอบรมเป็นครั้งคราว เพื่อปรับปรุงคุณภาพแรงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม
2.2 พลังงาน ในสภาวะการณ์ปัจจุบัน พลังงานทั้งพลังงานไฟฟ้าและพลังงานเชื้อเพลิงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของสถานเพาะชำ เช่น การใช้ปั๊มสูบน้ำ การใช้ขับเคลื่อนเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่น ๆ ให้แสงสว่าง เป็นต้น ต้นทุนทางด้านพลังงานในสถานเพาะชำนับวันจะยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นควรพิจารณาถึงหลายด้าน เช่น ความสะดวกในการจัดหา ความเหมาะสมกับเครื่องจักรที่มี นอกจากนั้นอาจต้องพิจารณาถึงพลังงานที่เป็นทางเลือกต่างๆ เช่น พลังงานลม พลังงานจากแสงแดด พลังงานจากก๊าซชีวภาพ เป็นต้น
2.3 วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือ เป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างหนึ่งที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมของสถานเพาะชำ ตัวอย่างเครื่องมือพื้นฐานเช่น จอบ เสียม พลั่ว พลั่วมือ ในกลุ่มนี้รวมไปถึงเครื่องจักรขนาดเล็กที่ใช้ในการทำงานด้านต่างๆ เช่น เครื่องผสมดิน เครื่องอบดิน เครื่องย่อยดิน เป็นต้น สำหรับวัสดุนั้นได้แก่ วัสดุที่ใช้เป็นเครื่องปลูก ภาชนะบรรจุพืชพรรณ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น วัสดุ
และเครื่องมือเหล่านี้ควรหาได้ง่ายแหล่งผลิตหรือจำหน่ายไม่ควรห่างไกลจากสถานเพาะชำมากนัก
2.4 บริการทางด้านวิชาการ สถานเพาะชำในบางครั้งอาจต้องการคำปรึกษาหรือบริการทางด้านวิชาการจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น บริการวิเคราะห์ดินและวัสดุปลูก การตรวจสอบคุณภาพของดิน การตรวจสอบคุณภาพน้ำ เป็นต้น การบริการเหล่านี้หากมีหน่วยงานของรัฐอยู่ไม่ห่างจากสถานเพาะชำมากนักก็จะเป็นประโยชน์มาก หากสถานที่ให้คำปรึกษาอยู่ไกลเกินอาจมีความเสียหายเกิดกับสถานเพาะชำได้หากมีการระบาดของโรคหรือแมลงอย่างรุนแรง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น