ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การวางผังสถานเพาะชำ (nursery layout)

แนวคิดในการวางผังสถานเพาะชำ

จากองค์ประกอบของสถานเพาะชำดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น สามารถแบ่งองค์ประกอบต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่มตามลักษณะของงานทางกายภาพได้ดังต่อไปนี้ กลุ่มพื้นที่บริหาร ทำหน้าที่บริหารงานและสั่งการต่างๆ ภายในสถานเพาะชำ รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นพื้นฐานสำหรับประกอบการตัดสินใจ ตลอดจนทำหน้าที่ทางด้านการขาย ได้แก่ บริเวณสำนักงานและพื้นที่จำหน่ายพืชพรรณ กลุ่มพื้นที่ผลิต ทำหน้าที่ดำเนินการผลิตและดูแลพืชพรรณที่ได้มีการขยายพันธุ์เพื่อที่จะขายในระยะเวลาต่อไป ได้แก่ โรงเพาะชำ พื้นที่ทำงานในร่ม แปลงแม่พันธุ์ บริเวณกองปุ๋ยหมัก เตาเผาซากพืช และแหล่งน้ำ กลุ่มพื้นที่สนับสนุนการผลิต ทำหน้าที่สนับสนุนปัจจัยในการผลิตเพื่อให้การดำเนินการได้ เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืช สารเคมีป้องกันโรคและแมลง เป็นต้น พื้นที่ส่วนนี้ได้แก่ โรงเรือนเก็บวัสดุอุปการณ์ต่างๆ และที่พักของคนงาน สำหรับกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ องค์ประกอบที่เหลือทั้งหมด ทางสัญจร ที่จอดรถ รั้วและแนวไม้กันลม ซึ่งทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อกันระหว่างบริเวณต่างๆ

จากการจัดกลุ่มดังกล่าวหากพิจารณาตามความเหมาะสมในการเข้าถึงจะเห็นได้ว่าบริเวณบริหารมีความต้องการการเข้าถึงมากที่สุด รองลงมาคือบริเวณของพื้นที่สนับสนุนการผลิตและบริเวณพื้นที่ผลิตตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากต้องมีการติดต่อจากภายนอกค่อนข้างบ่อย ดังนั้นส่วนนี้ควรเป็นส่วนที่อยู่ด้านหน้าสุดของสถานเพาะชำมีที่จอดรถสำหรับผู้มาใช้บริการพอสมควร ขณะที่บริเวณพื้นที่สนับสนุนการผลิตจะเป็นพื้นที่มีการติดต่อจากภายนอกรองลงมาเช่น ผู้ขายสารเคมีหรือปุ๋ยนำสินค้ามาส่ง เป็นต้น พื้นที่ส่วนนี้จึงเหมาะสมที่จะอยู่มาทางค่อนข้างด้านหน้า หรือใกล้กับบริเวณพื้นที่บริหาร และต้องมีการเข้าถึงได้โดยรถบรรทุกทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เพื่อความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าและอาจต้องมีที่จอดรถชั่วคราวสำหรับขนถ่ายสินค้าในปริมาณที่มากในบางครั้ง สำหรับพื้นที่ผลิตซึ่งเป็นพื้นที่มีความเป็นส่วนตัวสูงที่สุด ควรอยู่ด้านในถัดไปจากสองส่วนดังกล่าว เพื่อลดการรบกวนการทำงานจากภายนอก ทางสัญจรอาจเป็นทางสัญจรขนาดเล็ก เพื่อให้ได้พื้นที่ผลิตมากที่สุด สำหรับแหล่งน้ำที่ใช้สำหรับการผลิตพืชพรรณควรอยู่บริเวณตรงกลางของพื้นที่ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนเรื่องท่อและขนาดของปั๊มที่จะต้องใช้ส่งน้ำไปยังส่วนต่างๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตามการวางแผนผังบริเวณตำแหน่งของบริเวณต่าง ๆ ที่กล่าวมาให้มีความสัมพันธ์กัน ถือเป็นสิ่งแรกที่จะต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้การปฏิบัติงานของบริเวณหน่วยงานต่าง ๆ ได้เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นแล้วควรจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่เกี่ยวข้องที่มีอิทธิพลต่อการวางผัง โดยแผนผังทั้งหมดจะต้องมีทั้งสิ่งที่ต้องการในปัจจุบัน และสิ่งที่ต้องการในอนาคต รวมถึงความคล่องตัวของการเคลื่อนย้ายวัสดุ ผลผลิต และส่วนต่าง ๆ เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อให้ระยะทางในเคลื่อนที่ของส่วนต่างๆ มีระยะสั้นและเกิดประโยชน์สูงสุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด

สรุปได้ว่าสถานเพาะชำกล้าไม้มีบทบาทที่สำคัญสำหรับงานภูมิทัศน์ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นสถานที่ผลิต พักฟื้น บำรุงรักษา และควบคุมคุณภาพของกล้าไม้ที่จะนำไปใช้ในงานภูมิทัศน์ โดยปัจจัยที่นำมาพิจารณาในการสร้างสถานเพาะชำ ได้แก่ปัจจัยทางด้านด้านสภาพแวดล้อม เช่น แหล่งน้ำ ความใกล้ไกลของตลาด เป็นต้น และปัจจัยที่ต้องจัดหา เช่น แรงงาน พลังงาน เป็นต้น สำหรับองค์ประกอบต่างๆ ที่ใช้ในการดำเนินการสถานเพาะชำประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ๆ ตามลักษณะของหน้าที่ดำเนินการได้แก่ ส่วนบริหารงาน ส่วนผลิต ส่วนสนับสนุนการผลิต และส่วนอื่นๆ อย่างไรก็ตามองค์ประกอบเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีครบหมด นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่สำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรลืมคือ การจัดวางผังที่ดี ทั้งนี้เนื่องจากการวางผังจะส่งผลต่อความสะดวกราบรื่นในการดำเนินงานต่างๆ ภายในสถานเพาะชำ ช่วยต้นทุนในการดำเนินการบางส่วน จนถึงแนวทางการขยายตัวในอนาคตของสถานเพาะชำในอนาคต

องค์ประกอบของสถานเพาะชำ( nursery element)

องค์ประกอบสถานเะพาะชำ

การสร้างสถานเพาะชำเพื่อใช้ในการภูมิทัศน์ควรจะมีองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำหรับงานทางด้านเอกสาร หรืองานทางด้านปฏิบัติการ เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานตลอดจนทำให้สามารถทำงานความสะดวกในดำเนินกิจการได้ตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ดังนั้นเมื่อได้สถานที่สำหรับสร้างสถานเพาะชำแล้ว องค์ประกอบของสถานเพาะชำที่จะต้องนำมาพิจารณาเพื่อใช้สำหรับการดำเนินกิจการ ได้แก่

1. กลุ่มพื้นที่บริหาร

1.1 ส่วนสำนักงาน เนื่องจากการบริหารสถานเพาะชำนั้นจะเกี่ยวข้องกับงานหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานทางด้านเอกสาร เช่น งานด้านบัญชี การเงิน การจัดซื้อและการขาย งานด้านบุคคล ถือได้ว่าเป็นสถานที่เก็บฐานข้อมูลที่สำคัญ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการผลิตพืชพรรณให้สอดคล้องกับเป็าหมายที่ได้กำหนดไว้ ส่วนของสำนักงานนี้อาจเป็นอาคารเดียวแยกออกมาหรือเป็นเพียงห้องที่อยู่ภายในอาคารก็ได้ ควรมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานและเก็บเอกสาร นอกจากนั้นแล้วควรมีการถ่ายเทอากาศที่ดีอีกด้วย

1.2 พื้นที่จำหน่ายพืชพรรณ พื้นที่ส่วนนี้อาจเป็นได้ทั้งพื้นที่ในร่มหรือพื้นที่กลางแจ้ง ทั้งนี้ขึ้นกับนิสัยของพืชพรรณที่เลี้ยงไว้ โดยพื้นที่ส่วนนี้ควรอยู่ใกล้ชิดกับส่วนของสำนักงานและลานจอดรถ เพื่อความสะดวกในการเลือกซื้อและขนส่งต้นไม้ อาจมีบริเวณสำหรับขนย้ายต้นไม้โดยเฉพาะแยกต่างหากออกไป เพื่อรอขนขึ้นรถบรรทุกที่มารับโดยเฉพาะ

2. กลุ่มพื้นที่ผลิต

2.1 โรงเรือนเพาะชำหรือโรงเรือนอนุบาลต้นอ่อน พื้นที่ส่วนนี้ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมของสถานเพาะชำ โดยพื้นที่ส่วนนี้รวมถึงส่วนที่เป็นกระบะสำหรับชำต้นกล้าจากการปักชำ ดังนั้นควรมีความต่อเนื่องกับพื้นที่ปฏิบัติงานในร่ม และมีความเชื่อมโยงกับส่วนอื่น ๆ หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นแปลงปลูกแม่พันธุ์ โรงเก็บวัสดุปลูกเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและจำเป็นจะต้องสร้างโรงเรือนแบบที่พรางแสง เพื่อเพิ่มปริมาณความชื้นในอากาศให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นอ่อนและลดอัตราการคายน้ำ ดังแสดงในภาพที่ 2.8 สำหรับขนาดของโรงเรือนควรจะมีพื้นที่เท่าใดขึ้นกับปริมาณต้นกล้าที่จะนำมาอนุบาลในโรงเรือน สำหรับความสูงของโรงเรือนนั้นอยู่ที่ประมาณ 2.25-2.5 เมตร เป็นระดับที่สูงพอจะทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หากสูงเกินไปจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างมากขึ้น ในทางกลับกันหากโรงเรือนมีระดับหลังคาหรือมีความสูงที่ต่ำเกินไป จะทำให้การทำงานภายในโรงเรือนไม่สะดวก อากาศถ่ายเทได้ยาก เกิดความอับชื้นและอุณหภูมิภายในสูงเกินไป นอกจากนี้ภายในโรงเรือนควรมีทางเดินเพื่อดูแลและขนย้ายต้นกล้าได้สะดวก ทิศทางของโรงเรือนควรหันตามแนวทิศเหนือไปทิศใต้ เพื่อให้ได้รับแสงแดดมากที่สุด
โดยโรงเรือนเพาะชำกล้าไม้แสดงดังภาพ


2.2 พื้นที่ปฏิบัติงานในร่ม เป็นพื้นที่สำหรับใช้ในการทำงานในร่มเช่น การกรอกวัสดุปลูกลงถุง การเตรียมท่อนพันธุ์สำหรับปักชำ เป็นต้น พื้นที่ส่วนนี้อาจใช้ร่วมกับบริเวณที่ผสมวัสดุปลูกได้ ไม่ควรอยู่ห่างจากโรงเรือนเพาะชำมากนัก ดังแสดงในภาพ


2.3 แปลงแม่พันธุ์ โดยทั่วไปพืชพรรณขนาดเล็กสำหรับงานภูมิทัศน์มักจะขยายพันธุ์โดยการปักชำหรือแยกกอเป็นหลัก ซึ่งสามารถทำการขยายพันธุ์ได้เองภายในสถานเพาะชำ ดังนั้นจึงควรมีแปลงแม่พันธุ์สำหรับใช้ในการขยายพันธุ์พืชที่ต้องมีการใช้ประกอบในงานภูมิทัศน์ค่อนข้างบ่อย สำหรับแปลงแม่พันธุ์นั้นจะต้องมีการดูแลเป็นอย่างดีไม่ให้เป็นแหล่งของโรคหรือแมลง ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้มีการระบาดของโรคหรือแมลงกระจายออกไปยังส่วนอื่นของสถานเพาะชำได้

2.4 เตาเผาซากพืช สำหรับเศษวัสดุที่เหลือจากการทำปุ๋ยหมักโดยเฉพาะส่วนของพืชที่มีการเข้าทำลายโดยโรคและแมลง จะต้องรีบเผาทำลายโดยทันทีเพื่อป้องกันการระบาดในสถานเพาะชำโดยส่วนนี้อาจอยู่ชิดบริเวณริมรั้วด้านใดด้านหนึ่ง ควรอยู่ห่างจากบริเวณอื่นพอสมควร และมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ ๆ เพื่อใช้สำหรับกรณีที่ต้องควบคุมเพลิงเวลาเผาซากพืช

2.5 แหล่งน้ำ เนื่องจากน้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเซลล์และโครงสร้างต่างๆ ของพืชพรรณ สถานเพาะชำกล้าไม้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีแหล่งน้ำภายในพื้นที่ โดยแหล่งน้ำควรอยู่ไม่ไกลจากโรงเรือนเพาะชำ แหล่งน้ำดังกล่าวอาจเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติหรือแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นก็ได้ บริเวณแหล่งน้ำควรมีจุดควบคุมการจ่ายน้ำซึ่งได้แก่เครื่องสูบน้ำ ระบบกรอง ระบบส่งน้ำ ซึ่งอาจเป็นระบบอัตโนมัติหรือควบคุมโดยมนุษย์ และจะต้องมีคุณภาพและปริมาณเพียงพอแก่การใช้งานตลอดทั้งปี

2.6 บริเวณกองปุ๋ยหมัก ในการดำเนินกิจกรรมของสถานเพาะชำแต่ละวันย่อมมีเศษวัสดุที่เหลือจากการดำเนินงาน โดยในส่วนของเศษวัสดุที่เป็นอินทรีย์วัตถุสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักได้ สำหรับชิ้นวัสดุที่มีขนาดใหญ่อาจต้องผ่านการย่อยด้วยเครื่องย่อยเศษวัสดุก่อน แล้วนำไปเทกองในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของสถานเพาะชำเป็นพื้นที่ทำปุ๋ยหมักโดยเฉพาะดังภาพที่ 2.10 สำหรับเศษอินทรีย์วัตถุที่ใช้ในการทำปุ๋ยหมักมีข้อควรระวังคือ ต้องไม่มีโรคหรือแมลงติดไปกับวัสดุดังกล่าว

3. กลุ่มพื้นที่สนับสนุนการผลิต

3.1 โรงเก็บวัสดุปลูก และพื้นที่ผสมวัสดุปลูก เนื่องจากงานในสถานเพาะชำจำเป็นต้องมีวัสดุปลูกสำหรับพืชพรรณหลายชนิดและมีการใช้ในปริมาณมาก จึงต้องมีพื้นที่สำหรับเก็บอย่างเป็นสัดส่วน และง่ายต่อการขนย้ายเพื่อนำมาใช้ผสมเป็นวัสดุปลูก อย่างไรก็ตามวัสดุปลูกบางชนิดอาจมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นตำแหน่งของโรงเก็บวัสดุปลูกควรห่างจากส่วนสำนักงานพอสมควร แต่ไม่ควรห่างจากพื้นที่ปฏิบัติงานภายนอกอาคารและโรงเรือนเพาะชำ เพื่อความสะดวกในการขนย้ายต้นกล้าเมื่อทำการขยายพันธุ์แล้ว นอกจากนั้นแล้วควรคำนึงถึงการเข้าถึงของยานพาหนะที่จะขนวัสดุปลูกเข้ามาอีกด้วย

3.2 โรงเก็บปุ๋ยเคมี ในการดูแลรักษาพืชพรรณเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดี ตรงตามขนาดที่ต้องการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการให้ปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยการเจริญเติบโตให้พืชได้อาหารอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นสถานเพาะชำจึงต้องมีการเก็บปุ๋ยเคมีเพื่อใช้งานจำนวนหนึ่ง โดยโรงเก็บปุ๋ยเคมีควรมีการระบายอากาศที่ดี และห่างจากส่วนของสำนักงานพอสมควร แต่สามารถใช้พื้นที่ร่วมกับห้องเก็บสารเคมีหรือห้องเก็บวัสดุอุปกรณ์ได้ มีการเข้าถึงได้ค่อนข้างสะดวก นอกจากนั้นแล้วต้องป้องกันน้ำฝนได้ดี ควรมีการนำยกพื้นเพื่อป้องกันความชื้นที่จะทำให้เกิดการจับตัวแข็งของปุ๋ยเคมีได้

3.3 ห้องเก็บสารเคมี การผลิตพืชพรรรณสำหรับงานภูมิทัศน์ให้ได้ปริมาณมากจำเป็นต้องมีการใช้สารเคมีหลายชนิดเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ปริมาณกล้าไม้ตามต้องการ สารเคมีเหล่านี้มีหลายชนิดมีทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย จำเป็นต้องมีการจำแนกเป็นหมวดหมู่เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ติดป้ายชื่ออย่างชัดเจน ห้องเก็บสารเคมีควรอยู่ในบริเวณที่ร่มไม่โดนแดดเพราะแดดอาจทำให้สารเคมีเสื่อมคุณภาพได้ และไม่ควรไกลจากพื้นที่ปฏิบัติงานมากนัก

3.4 ห้องหรือโรงเก็บวัสดุอุปกรณ์ ในการขยายพันธุ์พืชจำเป็นต้องใช้ภาชนะบรรรจุต้นกล้าเป็นจำนวนมาก จะต้องมีการสำรองไม่ให้ขาดตลอดเวลา นอกจากนั้นแล้วจะต้องมีพื้นที่สำหรับเก็บอุปกรณ์ใช้งานในทำงานต่างๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตามในส่วนนี้อาจพิจารณาใช้พื้นที่ร่วมกับส่วนของห้องเก็บสารเคมีได้ ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณของวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องจัดเก็บ ดังแสดงในภาพ

3.5 ที่พักคนงาน ในกรณีที่มีการจ้างแรงงานหลายคน ควรจัดให้มีพื้นที่สำหรับพักผ่อนโดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ตามสมควร เช่น ห้องน้ำ ส่วนสำหรับพักรับประทานอาหาร ห้องเก็บของส่วนตัวเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานเพาะชำ ในกรณีที่มีคนงานพักอาศัยอยู่ภายในสถานเพาะชำ จำเป็นต้องมีบ้านพักสำหรับคนงานเพื่อความสะดวกในการทำงาน พื้นที่ส่วนนี้อาจจะอยู่ด้านในเข้าไปของสถานเพาะชำ หรือไม่ห่างจากเรือนเพาะชำมากนัก

4. กลุ่มอื่นๆ

4.1 ลานจอดรถและเส้นทางติดต่อภายในสถานเพาะชำ อาจมีลานจอดรถแยกเป็นสองส่วนคือสำหรับลูกค้าที่มาติดต่อซื้อพรณไม้ และส่วนของพนักงานที่มาปฏิบัติงาน โดยส่วนแรกควรอยู่ใกล้กับส่วนของสำนักงานหรือพื้นที่จำหน่ายพืชพรรณส่วนที่สองควรอยู่ด้านใน และต้องไม่กีดขวางทางสัญจรภายในที่จะต้องไปบริเวณอื่นๆ

4.2 ทางเข้า ควรอยู่ติดกับด้านที่เป็นถนนใหญ่สามารถเข้าออกได้ 1 ถึง 2 ทางและต้องมีประตู ที่กว้างพอสำหรับรถบรรทุกผ่านไปได้ ตำแหน่งของประตูควรอยู่ในบริเวณที่เลี้ยวสู่ถนนใหญ่ได้ง่ายและปลอดภัย ไม่ควรอยู่บริเวณหัวโค้งหรือมุมอับ เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

4.3 แนวไม้กันลม ในกรณีที่พื้นที่ของสถานเพาะชำตั้งอยู่ในบริเวณที่มีลมรุนแรงควรปลูกต้นไม้เป็นแนวกันลมบริเวณริมของพื้นที่ทางด้านดังกล่าวจำนวนหนึ่งถึงสองแถวโดยปลูกสลับกัน เพื่อลดความรุนแรงของลมในแนวนั้น

4.4 รั้ว ใช้เป็นตัวกำหนดแนวเขตและป้องกันการบุกรุกของคนหรือสัตว์ จากภายนอก แนวรั้วควรอยู่ชั้นนอกสุด หรือต่อจากแนวกันลมก็ได้ โดยวัสดุที่ทำรั้วควรมีอายุการใช้งานได้ยาวนาน มีราคาไม่แพง เพื่อที่จะประหยัดการลงทุน ดังภาพ

จากองค์ประกอบที่ได้กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของสถานเพาะชำมีหลายอย่างที่ต้องพิจารณา อย่างไรก็ตามการสร้างสถานเพาะชำไม่จำเป็นที่จะต้องมีองค์ประกอบที่กล่าวมาครบทุกส่วนอาจมีการยุบรวมกันเพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดได้ เช่น พื้นที่สำหรับเก็บปุ๋ยเคมีอาจใช้รวมกับห้องเก็บสารเคมีและห้องเก็บวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น ทั้งนี้ควรพิจารณาจากความจำเป็นและงบประมาณเป็นสำคัญ

สถานเพาะชำ (nursery) กับงานภูมิทัศน์

“สถานเพาะชำ” หรือ nursery มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับงานภูมิทัศน์ ทั้งนี้เนื่องจากสถานเพาะชำเป็นพื้นที่สำหรับการผลิต การพักฟื้น การดูแลรักษา ตลอดจนการเตรียมพืชพรรณให้พร้อมทั้งทางด้าน คุณภาพ ความสม่ำเสมอและทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกเพื่อนำไปปลูกในแปลงปลูก หรือรอการจำหน่าย โดยพืชพรรณที่อยู่ในสถานเพาะชำนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นพืชพรรณที่มีขนาดเล็กเสมอไป อาจเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ขุดล้อมจากที่อื่นเพื่อนำมาพักฟื้นก่อนไปปลูกก็ได้ สถานเพาะชำมักมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเพียงแค่ตัวโรงเรือนเท่านั้นในความเป็นจริงสถานเพาะชำนั้นรวมถึงอาณาบริเวณโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นรั้วโดยรอบจนถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ที่จำเป็นอีก เช่น แปลงแม่พันธุ์ บริเวณสำหรับเก็บปุ๋ยเคมี พื้นที่เก็บวัสดุปลูกเป็นต้น โดยการสร้างสถานเพาะชำสำหรับพืชพรรณในงานภูมิทัศน์มีปัจจัยที่ควรคำนึงถึงในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งองค์ประกอบทางด้านโครงสร้างที่ต้องมีเพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้


ปัจจัยที่ควรพิจารณาในการสร้างสถานเพาะชำ
ในการสร้างสถานเพาะชำเพื่อใช้สำหรับงานทางด้านภูมิทัศน์หรือด้านอื่น ๆ ควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งทางปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม (environmental factors) และปัจจัยที่ต้องจัดหามาเพื่อดำเนินการ (procurable factors) ซึ่งปัจจัยทั้งสองส่วนมีผลต่อการจัดสร้างสถานเพาะชำแตกต่างกันไป โดยปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมจะเกี่ยวข้องกับทางด้านลักษณะเฉพาะของพื้นที่จะสร้างสถานเพาะชำเป็นหลัก เช่น สภาพของดิน แหล่งน้ำ ทิศทางลม เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่ต้องจัดหาจะเกี่ยวข้องกับการจัดการของพื้นที่ เช่น แรงงาน แหล่งของพลังงานที่จะใช้ในสถานเพาะชำ เป็นต้น โดยแต่ละปัจจัยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม

1.1 ระยะห่างจากแหล่งปลูก สถานเพาะชำควรอยู่ใกล้แหล่งปลูกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เนื่องจากจะส่งผลต่อต้นทุนในด้านการประหยัดค่าขนส่ง ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อพืชพรรณ ทำให้พืชพรรณยังคงความแข็งแรงเมื่อถึงพื้นที่ปลูก ในบางกรณีที่มีความเร่งด่วนในการใช้พืชพรรณ หากมีสถานเพาะชำอยู่ใกล้แหล่งปลูกก็สามารถส่งพืชพรณได้ทันเวลาทำให้งานเสร็จในเวลาที่กำหนด

1.2 แหล่งน้ำ เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างมาก ดังนั้นสถานเพาะชำควรมีแหล่งน้ำที่สามารถนำมาประโยชน์ได้ง่าย พอเพียงต่อการดำเนินการตลอดทั้งปี ไม่มีสารมีพิษต่อการเจริญเติบโตของพืช

1.3 ความลาดชันของพื้นที่ สถานเพาะชำควรมีพื้นที่ราบและเรียบ เพื่อความสะดวกในการก่อสร้างโครงสร้าง ช่วยลดปัญหาหรือความเสี่ยงที่จะเกิดจากการชะล้างพังทะลายของดิน ทำให้การทำงานขนย้ายวัสดุเป็นไปได้อย่างสะดวก รวมถึงง่ายต่อการจัดระบบให้น้ำ หากจำเป็นต้องสร้างสถานเพาะชำในพื้นที่ลาดชันจะต้องทำการปรับระดับพื้นที่ให้เหมาะสมกับความลาดชัน และลักษณะของดินในพื้นที่นั้น

1.4 ลักษณะของดิน หากจำเป็นต้องปลูกต้นแม่ลงในดินบริเวณสถานเพาะชำ เพื่อใช้ขยายพันธุ์ ดินในสถานเพาะชำควรจะต้องเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ทั้งทางเคมีและกายภาพ มีการระบายน้ำดี ไม่มีสารพิษปะปน
1.5 การระบายน้ำ ที่ตั้งของสถานเพาะชำควรมีการระบายน้ำดี ไม่ควรมีน้ำมีท่วมขังเมื่อฝนตก และไม่มีลักษณะที่เป็นแอ่งน้ำขังเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เนื่องจากทำให้ไม่สะดวกต่อการปฏิบัติงาน และมีแนวโน้มทำให้เกิดโรคพืชได้ง่าย นอกจากนั้นแล้วการมีน้ำขังในพื้นที่จะส่งผลต่อการแพร่กระจายของโรคพืชเป็นไปอย่างรวดเร็วอีกด้วย
1.6 ทิศทาง หากพื้นที่ตั้งสถานเพาะชำอยู่ในบริเวณที่มีลมแรงควรจะมีการปลูกไม้กันลมโดยรอบสถานเพาะชำเพื่อป้องกันความเสียหายหรือลดความรุนของลม โดยไม้กันลมควรเป็นไม้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อื่นได้ เช่น ใช้กิ่งก้านทำโรงเรือน เป็นต้น

2. ปัจจัยที่ต้องจัดหามาเพื่อดำเนินการ
ในการดำเนินกิจมีรรมของสถานเพาะชำมีความจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ จากภายนอกเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ หากปัจจัยที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้สามารถจัดหาได้ง่าย หรือไม่ไกลจากสถานเพาะชำมากนัก ก็จะทำให้เป็นข้อได้เปรียบในการดำเนินงาน โดยปัจจัยเหล่านี้ได้แก่

2.1 แรงงาน เนื่องจากสถานเพาะชำกิจการที่ต้องใช้แรงงานมากในการดำเนินงาน ดังนั้นจึงควรมีแหล่งแรงงานอยู่ใกล้เคียงอย่างเพียงพอ ค่าจ้างโดยเฉลี่ยจะต้องไม่สูงเกินไป แรงงานควรมีทักษะพื้นฐานความรู้ และลักษณะนิสัยที่เหมาะกับงานสถานเพาะชำ ในระยะยาวควรมีการให้ความรู้ ฝึกอบรมเป็นครั้งคราว เพื่อปรับปรุงคุณภาพแรงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม

2.2 พลังงาน ในสภาวะการณ์ปัจจุบัน พลังงานทั้งพลังงานไฟฟ้าและพลังงานเชื้อเพลิงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของสถานเพาะชำ เช่น การใช้ปั๊มสูบน้ำ การใช้ขับเคลื่อนเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่น ๆ ให้แสงสว่าง เป็นต้น ต้นทุนทางด้านพลังงานในสถานเพาะชำนับวันจะยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นควรพิจารณาถึงหลายด้าน เช่น ความสะดวกในการจัดหา ความเหมาะสมกับเครื่องจักรที่มี นอกจากนั้นอาจต้องพิจารณาถึงพลังงานที่เป็นทางเลือกต่างๆ เช่น พลังงานลม พลังงานจากแสงแดด พลังงานจากก๊าซชีวภาพ เป็นต้น

2.3 วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือ เป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างหนึ่งที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมของสถานเพาะชำ ตัวอย่างเครื่องมือพื้นฐานเช่น จอบ เสียม พลั่ว พลั่วมือ ในกลุ่มนี้รวมไปถึงเครื่องจักรขนาดเล็กที่ใช้ในการทำงานด้านต่างๆ เช่น เครื่องผสมดิน เครื่องอบดิน เครื่องย่อยดิน เป็นต้น สำหรับวัสดุนั้นได้แก่ วัสดุที่ใช้เป็นเครื่องปลูก ภาชนะบรรจุพืชพรรณ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น วัสดุ
และเครื่องมือเหล่านี้ควรหาได้ง่ายแหล่งผลิตหรือจำหน่ายไม่ควรห่างไกลจากสถานเพาะชำมากนัก

2.4 บริการทางด้านวิชาการ สถานเพาะชำในบางครั้งอาจต้องการคำปรึกษาหรือบริการทางด้านวิชาการจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น บริการวิเคราะห์ดินและวัสดุปลูก การตรวจสอบคุณภาพของดิน การตรวจสอบคุณภาพน้ำ เป็นต้น การบริการเหล่านี้หากมีหน่วยงานของรัฐอยู่ไม่ห่างจากสถานเพาะชำมากนักก็จะเป็นประโยชน์มาก หากสถานที่ให้คำปรึกษาอยู่ไกลเกินอาจมีความเสียหายเกิดกับสถานเพาะชำได้หากมีการระบาดของโรคหรือแมลงอย่างรุนแรง